หวนรำลึกความทรงจำตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย

ขอบคุณผู้สนับสนุน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชโอรสใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนีทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออร์เบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระอนุชาองค์สุดท้องของพระบรมเชษฐาและพระเชษฐภคินี ๒ พระองค์
๒ ปีต่อมา พระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต พระบรมราชชนนีหรือที่ประชาชนชาวไทยรู้จักท่านในนาม “สมเด็จย่า” จึงทรงเลี้ยงดูให้การศึกษาอบรมพระโอรสและพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์เป็นอย่างดี ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๗) ทรงสละราชสมบัติ พระเชษฐาของพระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี แต่ชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ ๘ เพียง ๑๒ ปีเท่านั้น เนื่องจากทรงเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงสืบราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
“ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” ราษฎรคนหนึ่งตะโกนออกมาในขณะที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่านเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในขณะนั้นพระองค์ทรงนึกตอบในพระทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”
“เห็นแล้ว น่ารักมาก” ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงตรัสชื่นชมความน่ารักของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กับพระบรมราชชนนี หลังจากนั้นทรงหมั้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ พระองค์เสด็จนิวัติพระนคร ก่อนที่พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสถูกจัดขึ้น ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน หลังจากนั้นทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และมีพระปฐมบรมราชโองการตอนหนึ่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งยังตราตรึงในความทรงจำของชาวไทยมาถึงทุกวันนี้
หลังเสด็จนิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเลือกประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต หากแต่ไม่ได้เป็นเพียงที่ประทับเท่านั้น ทรงโปรดให้มีการทดลองเพื่อหาวิธีแก้ไขเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรภายในพื้นที่พระตำหนักจนเกิดเป็น “โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา” ในเวลาต่อมา
ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระธิดาองค์สุดท้องทรงเสด็จพระราชสมภพ นับเป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมีของพระโอรสและพระธิดาทั้ง ๔ พระองค์
ทศวรรษที่ ๔ ในพระชนม์ชีพของพระองค์ (พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๐) เป็นทศวรรษแห่งการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รวมทั้งสิ้นกว่า ๑๐ ประเทศ นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวไทย
พระราชภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ในทุกภูมิภาค ซึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริ กว่า ๔,๐๐๐ โครงการในเวลาต่อมา
พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงริเริ่มโครงการหลวงส่วนพระองค์ด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้เมืองหนาวเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ดอยปุย แทนการปลูกฝิ่น ถือเป็นหนึ่งในปฐมบทของโครงการหลวงส่วนพระองค์ที่พลิกชีวิตของพสกนิกร
เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถนนหน้าพระราชวังสวนจิตรลดา พระองค์โปรดให้เปิดประตูพระราชวังเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมชนเข้าไปหลบภัย และทรงมีพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มสงบลงตามลำดับ
หลังจากที่พระองค์พัฒนาโครงการฝนหลวงมากว่า ๑๔ ปี ในที่สุดด้วยความมุ่งมั่นของพระองค์ท่านที่ต้องการเอาชนะความแห้งแล้ง การทดลองจึงประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกเหนือพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ทศวรรษต่อมา (พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๓๐) เป็นช่วงเวลา แห่งการถือกำเนิดและเติบโตของโครงการในพระราชดำริ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยทราย โครงการศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง โครงการทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในแต่ละพื้นที่ให้ดีขึ้น
แม้ในยามที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
พระราชดำริว่าด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็นไฟส่องทาง มอบแนวปฏิบัติเพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาและนำพาประชาชนออกจากวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ไปได้
พ.ศ. ๒๕๔๙ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อพระองค์ท่านเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต พสกนิกรที่เดินทางจากทั่วทุกสารทิศเพื่อชื่นชมพระบารมีต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” อย่างกึกก้อง
แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๗๐ ปี พระองค์ยังคงทำหน้าที่กษัตริย์นักพัฒนา และทรงงานอยู่เสมอ แม้ห้องทรงงานของพระองค์ จะเปลี่ยนไปเป็นที่โรงพยาบาลศิริราชและกลายเป็นที่ประทับแห่งสุดท้ายของพระองค์ก็ตาม
สิ้นแล้วพระเสด็จฯ ผ่านพิภพสบสวรรค์ โลกจาบัลย์อาลัยให้หวนหา
ธ ทรงเป็นมิ่งขวัญแต่นานมา ชาวประชาเทิดไท้สดุดี
น้อมเศียรเกล้ากราบกรานพระผ่านฟ้า จอมมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงศรี
จักขอเป็นข้ารองพระบาทพระภูมี ต่อแต่นี้จวบจนนิรันดร์เทอญ
ทรงสถิตในใจไทยนิรันดร์

ร่วมส่งต่อความทรงจำดีๆให้เพื่อนของคุณ

ยังมีอีก ๓ โซนในพิพิธภัณฑ์ให้เยี่ยมชม

รักของพ่ออยู่รอบตัวเรา
๘๙ ภาพจากนักวาด
พ่อในความทรงจำของฉัน
Tweet
Share

ขอบคุณผู้สนับสนุน

king9moment@gmail.com
วอลล์เปเปอร์ แฟ้มข้อมูล ผู้สนับสนุนทั้งหมด

พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9

๐หน้าแรกพิพิธภัณฑ์
๑๘๙ ปีของพ่อ
๒รักของพ่ออยู่รอบตัวเรา
๓๘๙ ภาพจากนักวาด
๔สู่สวรรคาลัย
๕พ่อในความทรงจำของฉัน
๖ผู้สนับสนุน
TH | EN
Sound